พิษณุโลก

พิษณุโลก เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย[a] มีประชากรในปี พ.ศ. 2561 จำนวน 866,891 คน[2] มีพื้นที่ 10,815.854 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 9 อำเภอ มีเทศบาลนครพิษณุโลกเป็นเขตเมืองศูนย์กลางของจังหวัดและเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับแขวงไชยบุรี ประเทศลาว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด เป็นจังหวัดเดียวของภาคกลางที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว

ศัพทมูลวิทยา
ระวังสับสนกับ วิษณุโลก
ชื่อของจังหวัดมาจากคำว่า พิษณุ หมายถึง "พระวิษณุ" เทพตามความเชื่อของชาวฮินดู รวมกับคำว่า โลก ทำให้มีความหมายเป็น "โลกแห่งพระวิษณุ" ในสมัยที่ยังปกครองด้วยระบบมณฑลเทศาภิบาล ชื่อของจังหวัดนั้นสะกดว่า พิศณุโลก[5]

ส่วนชื่อ สรลวงสองแคว โดยคำ "สรลวง" (ไม่ใช่สระหลวง) มาจากคำเขมรว่า "ชฺรลวง" แปลว่า "ลำน้ำ" รวมกันจึงมีความหมายว่า "ลำน้ำสองแคว" หรือ "ลำน้ำสองกระแส" สอดคล้องกับชื่อในภาษาบาลีว่า "ไทวยนทีศรียมนา" แปลว่า "ลำน้ำอันเป็นสิริที่มีสองสาย"[6] ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ เข้าใจว่า "สรลวง" คือคำว่า "สรวง" ที่แปลว่าสวรรค์[7]

ในพระราชพงศาวดารพม่าและพงศาวดารไทยใหญ่ พระนิพนธ์ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ปรากฏชื่อเมืองพิษณุโลกว่า เมืองสองคญี[8][9][10] และพระอิสริยยศ เจ้าฟ้าสรวงคญี คำว่า "คญี" พม่าแปลว่า "มหา" จึงเขียนว่า "เจ้าฟ้ามหาสรวง" กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงดำริอีกว่า "สหายข้าพเจ้าแนะว่าน่าจะเป็นเจ้าฟ้าสองแคว เพราะสองแควเป็นนามเมืองพิศณุโลก ดังปรากฏในตำนานพระแก่นจันทร์"[11] หมายถึง พระมหาธรรมราชา เจ้าผู้ครองเมืองพิษณุโลก[12]

ประวัติศาสตร์
พบแหล่งโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่จังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ภาพสลักบนหินที่ถ้ำกาและผาขีดเขาภูขัด อำเภอนครไทย และภาพสลักหินที่ผากระดานเลข อำเภอชาติตระการ ซึ่งภาพสลักหินเหล่านี้อยู่ในยุคโลหะมีอายุประมาณสี่พันปีก่อน[13]

จดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวถึงพระเจ้าพนมไชยศิริอพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่นครไทย อาจหมายถึงพระเจ้าชัยศิริแห่งอาณาจักรโยนกเชียงแสนซึ่งเผชิญกับการรุกรานของอาณาจักรสุธรรมวดีอพยพลงมาทางใต้[14][15] (ตำนานสิงหนวัติกล่าวว่าอพยพไปกำแพงเพชร[16]) แหล่งโบราณคดีนครไทยเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ก่อนสมัยอาณาจักรสุโขทัย[14] ในสมัยขอมโบราณมีชุมชนตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองพิษณุโลกในปัจจุบันบริเวณวัดจุฬามณีคือเมืองสองแควเดิม พระปรางค์วัดจุฬามณีสร้างขึ้นในสมัยขอม[17] ต่อมาพ่อขุนบางกลางหาวแห่งเมืองบางยางร่วมมือกับพ่อขุนผาเมืองแห่งเมืองราดขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไปจากภูมิภาคนำไปสู่การกำเนิดอาณาจักรสุโขทัย สันนิษฐานว่าเมืองบางยางคือเมืองนครไทย[18]

บันทึกของปีแยร์ บรีโก มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยามีกล่าวถึงเมืองพิษณุโลก ต่อมาฟร็องซัว-อ็องรี ตูร์แป็งได้นำมาเผยแพร่ ความว่า[19] :-

เมืองพิษณุโลก (Porcelon) ซึ่งชาวโปรตุเกสเรียกเพี้ยนว่า ปอร์ซาลุก (Porsalouc) นั้น แต่ก่อนขึ้นแก่พวกเจ้าที่เป็นทายาทสืบต่อกันมา และในปัจจุบันเราก็ยังชำระคดีในนามเจ้านายเก่าของเมืองนี้และในวังของเขาอันว่า เมืองนี้ ซึ่งมั่นคงด้วยป้อมสิบสี่ป้อมที่สร้างโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสนั้นเป็นเมืองที่ร่ำรวยและค้าขาย เป็นต้นว่า งาช้าง นอแรด หนังสัตว์ป่า น้ำตาล ยาสูบ หัวหอม ขี้ผึ้งและน้ำผึ้ง ที่จังหวัดพิษณุโลก มีคนทำไต้ที่ทำด้วยน้ำมันดินกับน้ำมัน และมีคนทำยางแดง (Gomme rouge) ที่ใช้ทำครั่งประทับตรา (cire d' Eapagne) นอกจากนั้นยังมีคนทำไม้สำหรับสร้างบ้านและย้อมสีมาก พื้นดินเมืองพิษณุโลกผลิตดีบุก และอำพันสีเทาด้วย

สมัยสุโขทัย

ภาพเก่าองค์พระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
เมืองพิษณุโลกเดิมมีชื่อต่าง ๆ กัน ปรากฏชื่อเมือง "สองแคว" ในจารึกวัดศรีชุม "พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีเกิดในนครสรลวงสองแคว"[20] ชื่อเมืองสองแควหมายถึงเมืองซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย ในช่วงต้นสมัยสุโขทัยเมืองสองแควอยู่ในการปกครองของพระยาคำแหงพระรามแห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถม จนกระทั่งรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเมืองสองแควเข้ามาอยู่ในการปกครองของสุโขทัยราชวงศ์พระร่วงดังที่ระบุไว้ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ในพงศาวดารเหนือระบุว่า "พระเจ้าศรีธรรมปิฎก"หรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ทรงสร้างเมืองสองแควขึ้นใหม่ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านบริเวณเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน พระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้างวัดต่างๆขึ้นเป็นจำนวนมากได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) วัดเจดีย์ยอดทอง วัดอรัญญิก และบูรณะวัดวัดราชบูรณะ ทรงให้หล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดาขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดใหญ่ พระพุทธชินราชซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุใช้เป็นตราประจำจังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน นอกจากนี้พระมหาธรรมราชาลิไทยังทรงสร้างพระราชวังจันทน์[21] เมืองสองแควพัฒนาขึ้นกลายเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรสุโขทัยทางทิศตะวันออก

นอกจากนี้เมืองสองแควยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า "เมืองชัยนาท"[22]หมายถึงเมืองฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านบริเวณพระราชวังจันทน์ ขุนหลวงพะงั่วยกทัพอยุธยาขึ้นมายึดเมืองชัยนาทได้สำเร็จ[23] จนพระมหาธรรมราชาลิไทจำต้องเจรจากับพระเจ้าอู่ทองสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เพื่อขอเมืองชัยนาทคืน ทำให้พระมหาธรรมราชาลิไทต้องเสด็จย้ายมาประทับที่เมืองสองแควหรือเมืองชัยนาทอยู่เป็นเวลาเจ็ดปี[24] พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไท) ครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองสองแคว[24] ทำให้เมืองสองแควกลายเป็นราชธานีของอาณาจักรสุโขทัย เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไท) สวรรคตในพ.ศ. 1962 เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระยารามและพระยาบาลเมือง สมเด็จพระนครินทราธิราชแห่งอยุธยาเสด็จขึ้นมาไกล่เกลี่ย ให้พระยารามครองเมืองสุโขทัยในขณะที่พระยาบาลเมืองขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 แห่งสองแคว ทำให้เมืองสองแควแยกตัวจากสุโขทัยและเป็นประเทศราชของอยุธยา เมืองสองแควทวีความสำคัญขึ้นมามากกว่าสุโขทัย

เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 สวรรคตในพ.ศ. 1981 สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 ทรงส่งพระโอรสคือพระราเมศวรซึ่งมีพระราชมารดาเป็นพระธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 ไปครองเมืองสองแควประทับที่พระราชวังจันทน์ เมื่อพระราเมศวรต่อมาขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองสองแควจึงได้รวมกับอาณาจักรอยุธยา[25]

สมัยอยุธยา
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแต่งตั้งให้พระยายุทธิษเฐียรซึ่งเป็นพระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 4 เป็น "พระยาสองแคว" เป็นเจ้าเมืองอยู่ภายใต้อำนาจของอยุธยา แต่พระยายุทธิษเฐียรคิดตั้งตนขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาจึงหันไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา นำไปสู่สงครามระหว่างอยุธยาและล้านนา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถย้ายมาประทับที่เมืองสองแควในพ.ศ. 2006 เมื่อตั้งรับศึกกับล้านนาและทรงผนวชที่วัดจุฬามณีในพ.ศ. 2008 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน มีข้าราชบริพารตามเสด็จออกบวชถึง 2,348 คน[26] สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงรวมเมืองฝั่งตะวันออกและเมืองชัยนาทฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านเข้าด้วยกัน[22]แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า เมืองพระพิษณุโลกสองแคว ปรากฏชื่อเมือง "พิษณุโลก" ขึ้นครั้งแรกในลิลิตยวนพ่าย[27]


พระพุทธชินราช ณ พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
หลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมืองพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการปกครองของอยุธยาในหัวเมืองเหนือ โดยมีพระมหาอุปราชซึ่งเป็นพระราชโอรสทรงครองเมืองและประทับอยู่ที่พระราชวังจันทน์ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตพระเชษฐาพระโอรสเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ต่อมาพระเชษฐาได้ราชสมบัติอยุธยาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงแต่งตั้งให้พระโอรสคือพระไชยราชาให้ครองเมืองพิษณุโลก พระไชยราชายึดอำนาจจากพระรัษฎาธิราชขึ้นเป็นสมเด็จพระไชยราชาธิราช จากนั้นไม่มีการตั้งพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อขุนพิเรนทรเทพยึดอำนาจจากขุนวรวงศาธิราชในพ.ศ. 2091 และเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงแต่งตั้งให้ขุนพิเรนทรเทพให้เป็นพระมหาธรรมราชาปกครองเมืองพิษณุโลก ทำให้เมืองพิษณุโลกมี "พระมหาธรรมราชา" มาปกครองอีกครั้ง พระวิสุทธิกษัตริย์ทรงสร้างวัดนางพญา

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแห่งพม่ายกทัพมาประชิดเมืองพิษณุโลกในพ.ศ. 2106 พระมหาธรรมราชายอมจำนนต่อพระเจ้าบุเรงนองทำให้พิษณุโลกและหัวเมืองเหนือทั้งหมดกลายเป็นประเทศราชของพม่า สมเด็จพระมหินทราธิราชแห่งอยุธยาทรงร่วมมือกับสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างร่วมกันยกทัพเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกในแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งพระเจ้าบุเรงนองตั้งให้พระมหาธรรมราชาครองอยุธยา

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงตั้งให้พระโอรสคือสมเด็จพระนเรศวรขึ้นเป็นพระมหาอุปราชไปครองเมืองพิษณุโลกอีกครั้งในพ.ศ. 2114 ประทับที่พระราชวังจันทน์ ตามข้อสันนิษฐานของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล[28] ในปีพ.ศ. 2127 เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เมืองพิษณุโลกทำให้ "เกิดเหตุอัศจรรย์แม่น้ำซายหัวเมืองพิษณุโลกนั้น ป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นนั้นสามศอก" เมืองพิษณุโลกอาจเสียหายมาก หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงแล้วจึงมีพระราชโองการให้ "เทครัว" กวาดต้อนผู้คนในหัวเมืองเหนือทั้งหมดรวมถึงพิษณุโลกลงมายังภาคกลางตอนล่างเพื่อเตรียมการรับศึกกับพม่า[29] ทำให้เมืองพิษณุโลกกลายเป็นเมืองร้างอยู่เป็นเวลาแปดปี จนกระทั่งหลังจากเสร็จสิ้นสงครามยุทธหัตถีแล้วสมเด็จพระนเรศวรฯจึงทรงฟื้นฟูเมืองพิษณุโลกในพ.ศ. 2136 โดยการแต่งตั้งให้พระชัยบุรี หรือพระยาชัยบูรณ์ เป็นพระยาสุรสีห์ฯเจ้าเมืองพิษณุโลก เมืองพิษณุโลกเปลี่ยนฐานะจากเมืองของพระมหาอุปราชมาเป็นเมืองชั้นเอกมีขุนนางเป็นเจ้าเมือง ปรากฏราชทินนามของเจ้าเมืองพิษณุโลกว่า เจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาธิราช ชาติพัทยาธิเบศราธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ หรือ "เจ้าพระยาพิษณุโลกเอกอุ" ศักดินา 10,000 ไร่ เมืองพิษณุโลกหัวเมืองชั้นเอกฝ่ายเหนือของอยุธยาคู่กับเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองเอกฝ่ายใต้

สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จมานมัสการพระพุทธชินราชในพ.ศ. 2146 พร้อมทั้งโปรดฯให้นำทองนพคุณมาปิดทองพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ซึ่งเดิมเป็นพระพุทธรูปสำริด เป็นการปิดทององค์พระพุทธชินราชครั้งแรก ในพ.ศ. 2205 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลังจากเสร็จสิ้นศึกเชียงใหม่ทรงนมัสการพระพุทธชินราช และโปรดฯให้สร้างรอยพระพุทธบาทจำลองเมื่อพ.ศ. 2222 ประดิษฐานไว้ ที่วัดจุฬามณี ในรัชสมัยพระเพทราชามีการปฏิรูปการปกครอง หัวเมืองฝ่ายเหนือรวมถึงเมืองพิษณุโลกอยู่ภายใต้การปกครองของสมุหนายก ในพ.ศ. 2309 เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่ายกทัพเข้ายึดเมืองสุโขทัย เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) นำทัพพิษณุโลกเข้ากอบกู้เมืองสุโขทัย เจ้าฟ้าจีดเสด็จหลบหนีจากกรุงศรีอยุธยามายึดอำนาจที่เมืองพิษณุโลก[30] ทำให้เจ้าพระยาพิษณุโลกต้องเลิกทัพจากสุโขทัยกลับไปยึดอำนาจคืนจากเจ้าฟ้าจีด และทัพพม่าสามารถเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยาได้โดยไม่ยึดเมืองพิษณุโลก

สมัยธนบุรี
หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าชุมนุมพิษณุโลกมีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์และปากน้ำโพ ในพ.ศ. 2311 เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตนขึ้นเป็นพระเจ้าพิษณุโลกพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากนั้นอีกเจ็ดวัน[31]หรือหกเดือนจึงถึงแก่พิราลัย พระอินทร์อากรน้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลกขึ้นเป็นผู้นำชุมนุมพิษณุโลกต่อมา แต่ชุมนุมเจ้าพระฝางเข้ายึดชุมนุมพิษณุโลกประหารชีวิตพระอินทร์อากรและกวาดต้อนทรัพย์สินผู้คนไปยังเมืองสวางคบุรี เมืองพิษณุโลกอยู่ภายใต้การปกครองของชุมนุมเจ้าพระฝางจนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและเจ้าพระยายมราช (บุญมา) ซึ่งต่อมาคือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยกทัพขึ้นมายึดเมืองพิษณุโลกได้สำเร็จในพ.ศ. 2313 ทำให้พิษณุโลกเข้ามาอยู่การปกครองของธนบุรีและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยายมราช (บุญมา) เป็น "เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชฯ" ปกครองเมืองพิษณุโลก

ในพ.ศ. 2318 ในขณะที่เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯและเจ้าพระยาสุรสีห์ฯกำลังทำศึกที่เมืองเชียงแสนนั้น แม่ทัพพม่าอะแซหวุ่นกี้ยกทัพเข้ามาผ่านด่านแม่ละเมาแขวงเมืองตากเข้ารุกรานเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์เร่งทัพลงมาป้องกันเมืองพิษณุโลก อะแซหวุ่นกี้นำทัพพม่าเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่นานสี่เดือนและตัดเส้นทางเสบียงทำให้เมืองพิษณุโลกขาดแคลนอาหาร อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระเจ้าพระยาจักรีที่เนินดินซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันอยู่ที่หน้าสำนักงานเทศบาลนครพิษณุโลกเดิมซึ่งประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ[32] เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์พิจารณาว่าศึกครั้งนี้ไม่สามารถต้านได้จึงฝ่าวงล้อมของศัตรูออกไปตั้งมั่นที่เพชรบูรณ์ อะแซหวุ่นกี้นำทัพพม่าเข้าปล้นสะดมเผาทำลายเมืองพิษณุโลก เมืองพิษณุโลกถูกทำลายลงโดยส่วนใหญ่ ทำลายพระราชวังจันทน์ เหลือเพียงพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุซึ่งไม่ถูกทำลาย

สมัยรัตนโกสินทร์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเมื่อพ.ศ. 2325 จึงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้ "หลวงนรา"[33] เป็น "พระยาพิษณุโลก" ในพ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ แม่ทัพพม่าเนเมียวสีหซุยยกทัพจากลำปางลงมารุกรานหัวเมืองเหนือ หลวงนราพระยาพิษณุโลกเห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากฝ่ายหัวเมืองเหนือมีกำลังน้อยจากการสูญเสียกำลังพลไปมากในสงครามอะแซหวุ่นกี้ จึงสละเมืองพิษณุโลกหลบหนีเข้าป่าไม่ได้ต่อสู้ต้านทานการรุกรานของพม่า[33] ทัพพม่าจึงเดินทัพผ่านหัวเมืองเหนือลงไปยังนครสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯทรงให้รื้อกำแพงเมืองพิษณุโลกลง[34]เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกใช้เป็นที่มั่น เมืองพิษณุโลกซึ่งเผชิญกับศึกสงครามอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณยี่สิบปีอยู่ในสภาวะทรุดโทรมและขาดการทำนุบำรุง ในพ.ศ. 2372 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงอัญเชิญพระพุทธชินสีห์จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ได้อัญเชิญพระศรีศาสดาไปยังวัดบางอ้อยช้าง[35] (ซึ่งต่อมาพระศรีศาสดาได้ไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศฯ)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องพระพุทธชินราชว่า "...จะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้งามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว" มีพระราชดำริอัญเชิญพระพุทธชินราชลงไปเป็นองค์ประธานของวัดเบญจมบพิตร[36] ปรากฏเรื่องเล่ามุขปาฐะว่าในการอัญเชิญพระพุทธชินราชนั้นเกิดเหตุอัศจรรย์ไม่สามารถนำพระพุทธชินราชลงแพได้ หรือเมื่อเข็นลงแพแล้วแพหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว[36] จึงไม่สามารถอัญเชิญพระพุทธชินราชลงไปยังกรุงเทพได้และประดิษฐานในเมืองพิษณุโลกดังเดิม มีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกขึ้นในพ.ศ. 2437 โดยมีเมืองพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการปกครองประกอบด้วยห้าเมืองได้แก่เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองสุโขทัย เมืองพิจิตร และเมืองสวรรคโลก ต่อมารวมมณฑลเพชรบูรณ์เข้าร่วมด้วย โดยมีเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงคนแรก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสยามมกุฏราชกุมารเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกในพ.ศ. 2450 ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อมีการตรา"พระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2476" ขึ้น มณฑลเทศาภิบาลสิ้นสุดลงนำไปสู่การจัดตั้งจังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน

ครั้งเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง สะพานข้ามแม่น้ำน่านหน้าวัดใหญ่ก็ถูกทิ้งระเบิด แต่ทิ้งเท่าไหร่ก็ไม่ถูกเป้าหมาย[ต้องการอ้างอิง] ทั้ง ๆ ที่ในอดีต เป็นสะพานไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก[ต้องการอ้างอิง]

ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดพิษณุโลกมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่แตกต่างกันตามการแบ่งแบบต่าง ๆ หากแบ่งเขตตามการพยากรณ์อากาศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะจัดอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง สำหรับเกณฑ์การแบ่งภาคอย่างเป็นทางการของราชบัณฑิตยสภา จะจัดอยู่ในภาคกลาง โดยอยู่ทางตอนบนของภาค ห่างจากกรุงเทพมหานคร 377 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 10,815 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,759,909 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอพิชัย อำเภอทองแสนขัน และอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์, แขวงไชยบุรี ประเทศลาว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอหล่มสัก อำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์, อำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองพิจิตร อำเภอวชิรบารมี อำเภอสามง่าม และอำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกงไกรลาศ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย, อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร
ภูมิประเทศ
ทางตอนเหนือและตอนกลางเป็นเขตเทือกเขาสูงและที่ราบสูง โดยมีเขตภูเขาสูงด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ในเขตอำเภอวังทอง อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเนินมะปราง อำเภอนครไทย และอำเภอชาติตระการจุดสูงสุด​คือภู​สอยดาว​2,102 เมตร​ ​เป็นยอดเขาปันเขตแดนไทย-ลาว​ พื้นที่ตอนกลางมาทางใต้เป็นที่ราบ และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแหล่งการเกษตรที่สำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก อยู่ในเขตอำเภอบางระกำ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม อำเภอเนินมะปราง และบางส่วนของอำเภอวังทอง

ภูมิอากาศ
จังหวัดพิษณุโลกมีลมมรสุมพัดผ่านจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย และแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 3 ฤดู

ฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 32 องศาเซลเซียส
ฤดูฝน จะเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ปริมาณน้ำฝน เฉลี่ยประมาณปีละ 1,375 มิลลิเมตร
ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 19 องศาเซลเซีย
ข้อมูลภูมิอากาศของจังหวัดพิษณุโลก
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 36.3
(97.3) 38.0
(100.4) 40.3
(104.5) 41.8
(107.2) 42.0
(107.6) 38.7
(101.7) 38.4
(101.1) 36.7
(98.1) 36.6
(97.9) 35.3
(95.5) 35.7
(96.3) 35.6
(96.1) 42
(107.6)
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 31.6
(88.9) 33.9
(93) 35.9
(96.6) 37.4
(99.3) 35.6
(96.1) 33.6
(92.5) 32.8
(91) 32.3
(90.1) 32.3
(90.1) 32.3
(90.1) 31.7
(89.1) 30.9
(87.6) 33.36
(92.05)
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) 24.1
(75.4) 26.7
(80.1) 29.0
(84.2) 30.6
(87.1) 29.6
(85.3) 28.5
(83.3) 28.1
(82.6) 27.8
(82) 27.8
(82) 27.6
(81.7) 26.1
(79) 24.0
(75.2) 27.49
(81.49)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 18.0
(64.4) 20.8
(69.4) 23.5
(74.3) 25.3
(77.5) 25.2
(77.4) 24.8
(76.6) 24.6
(76.3) 24.5
(76.1) 24.5
(76.1) 24.0
(75.2) 21.6
(70.9) 18.3
(64.9) 22.93
(73.27)
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 8.9
(48) 13.2
(55.8) 12.7
(54.9) 19.1
(66.4) 20.4
(68.7) 21.8
(71.2) 21.6
(70.9) 22.2
(72) 21.5
(70.7) 17.6
(63.7) 12.1
(53.8) 9.4
(48.9) 8.9
(48)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 7
(0.28) 12
(0.47) 29
(1.14) 51
(2.01) 188
(7.4) 183
(7.2) 190
(7.48) 257
(10.12) 241
(9.49) 157
(6.18) 31
(1.22) 6
(0.24) 1,352
(53.23)
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย (≥ 1.0 mm) 1 1 2 4 12 13 14 17 15 9 3 1 92
แหล่งที่มา: NOAA (2504-2533)[37]
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัด: พระพุทธชินราช
ธงประจำจังหวัด: ธงพื้นสีม่วง กลางธงเป็นตราประจำจังหวัดคือรูปพระพุทธชินราชในวงกลม
คำขวัญประจำจังหวัด: พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา
ต้นไม้ประจำจังหวัด: ปีบ (Millingtonia hortensis)
ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกนนทรี (Peltophorum pterocarpum)
ธงประจำจังหวัดพิษณุโลก
ธงประจำจังหวัดพิษณุโลก


ตราประจำจังหวัดพิษณุโลก
ตราประจำจังหวัดพิษณุโลก


ต้นปีบ ต้นไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก
ต้นปีบ ต้นไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก


ดอกนนทรี ดอกไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก
ดอกนนทรี ดอกไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก


ตราผ้าผูกคอลูกเสือประจำจังหวัดพิษณุโลก
ตราผ้าผูกคอลูกเสือประจำจังหวัดพิษณุโลก

การเมืองการปกครอง
หน่วยการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค

แผนที่อำเภอในจังหวัดพิษณุโลก
จังหวัดพิษณุโลกแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ 93 ตำบล 1,032 หมู่บ้าน ซึ่งอำเภอทั้ง 9 อำเภอมีดังนี้

อำเภอเมืองพิษณุโลก
อำเภอนครไทย
อำเภอชาติตระการ
อำเภอบางระกำ
อำเภอบางกระทุ่ม
อำเภอพรหมพิราม
อำเภอวัดโบสถ์
อำเภอวังทอง
อำเภอเนินมะปราง
การปกครองส่วนท้องถิ่น

แผนที่เขตเทศบาลในจังหวัดพิษณุโลก

เทศบาลนครพิษณุโลก
จังหวัดพิษณุโลกมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 103 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลนคร 1 แห่ง คือ เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลเมือง 1 แห่ง คือ เทศบาลเมืองอรัญญิก เทศบาลตำบล 24 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 76 แห่ง[38] โดยเทศบาลสามารถจำแนกได้ตามอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดพิษณุโลก ดังนี้

อำเภอเมืองพิษณุโลก

เทศบาลนครพิษณุโลก
เทศบาลเมืองอรัญญิก
เทศบาลตำบลบ้านใหม่
เทศบาลตำบลพลายชุมพล
เทศบาลตำบลหัวรอ
เทศบาลตำบลท่าทอง
เทศบาลตำบลบ้านคลอง
อำเภอนครไทย

เทศบาลตำบลนครไทย
เทศบาลตำบลบ้านแยง
อำเภอชาติตระการ

เทศบาลตำบลป่าแดง
อำเภอบางระกำ

เทศบาลตำบลบางระกำ
เทศบาลตำบลปลักแรด
เทศบาลตำบลพันเสา
เทศบาลตำบลบึงระมาณ
เทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่
อำเภอบางกระทุ่ม

เทศบาลตำบลเนินกุ่ม
เทศบาลตำบลบางกระทุ่ม
เทศบาลตำบลห้วยแก้ว
เทศบาลตำบลสนามคลี
อำเภอพรหมพิราม

เทศบาลตำบลพรหมพิราม
เทศบาลตำบลวงฆ้อง
อำเภอวัดโบสถ์

เทศบาลตำบลวัดโบสถ์
อำเภอวังทอง

เทศบาลตำบลวังทอง
อำเภอเนินมะปราง

เทศบาลตำบลเนินมะปราง
เทศบาลตำบลไทรย้อย
เทศบาลตำบลบ้านมุง
รายชื่อเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัด
สมัยสุโขทัย
ทำเนียบเจ้าเมืองพิษณุโลกระหว่างปี พ.ศ. 1781–2006 ขึ้นกับอาณาจักรสุโขทัย มีฐานะเป็นเมืองหลวง

ลำดับ พระนาม/ชื่อ ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ไม่ปรากฏ–1946[39][40]
2 พระมหาธรรมราชาที่ 3 (พญาไสลือไทย) ไม่ปรากฏ–1962
(รัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 2)
3 พระมหาธรรมราชาที่ 4 1962–1981 (รัชกาลเจ้าสามพระยา)
4 พระยาบรมราชาติโลก (บรมไตรโลก)[41] ไม่ปรากฏ–2002
5 พระยายุทธิษเฐียร 1981–2012 (รัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 4)
เมืองพิษณุโลกขึ้นกับอาณาจักรอยุธยา พ.ศ. 2012
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ทำเนียบเจ้าเมืองพิษณุโลกระหว่างปี พ.ศ. 1894–2310 ขึ้นกับอาณาจักรอยุธยา มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงและเมืองพระยามหานคร (หัวเมืองชั้นเอกอุและหัวเมืองชั้นเอก)

ลำดับ พระนาม/ชื่อ ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พระราเมศวร) 2012–2032
2 พระยาพิษณุโลก (หลวงศรีราชวังเมือง)[42]:171 2012–ไม่ปรากฏ (สงครามล้านนา)
3 พระยายุทธิษเฐียร รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(สามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช)
4 พระยาพิษณุโลก 2077–2089 (รัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช)[43]
(หรือ Oyaa Passilico ในบันทึกของปินโต)
5 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า (ขุนพิเรนทรเทพ) 2106–2111
(รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)
เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112
6 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า (ขุนพิเรนทรเทพ) 2112 (รัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง)
7 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 2112–2127
(โปรดให้เทครัว เมื่อ พ.ศ. 2127)
8 เจ้าพระยาสุรสีห์ (พระชัยบุรี)[42]:204 2136–ไม่ปรากฏ[44] (รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
9 ออกญาพิษณุโลก (ออกญาพระคลัง)[42]:220 2172–2179[42]:223 (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง)[45]
(ทรงตั้งพระสหายสนิทที่ร่วมคิดแย่งราชสมบัติเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก)
10 ออกญาพิษณุโลก (ออกญาวัง) 2179–ไม่ปรากฏ[42]:223
11 เจ้าพระยาจักรี (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง)[46]
(โอนเมืองพิษณุโลกไปขึ้นกับเจ้าพระยาจักรี)
12 ออกญาพิษณุโลก (รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)[47]
(เจ้าเมืองพิษณุโลกถูกประหารจากการยักยอกรายได้ของหลวง)
13 สมเด็จพระเพทราชา ไม่ปรากฏ–2231[48]
(รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)
14 กรมพระราชวังบวร (หลวงสรศักดิ์) 2231–2246 (รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา)
15 เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ) 2251–2275[49] (รัชกาลพระเจ้าท้ายสระ)
16 เจ้าพระยาสุรสีห์ (หลวงจ่าแสนยากร)[50]:153 2275–2276[51]:8(รัชกาลพระเจ้าบรมโกศ)
17 เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) 2276–2310 (รัชกาลพระเจ้าบรมโกศ)[52]
เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310
สมัยกรุงธนบุรี
ทำเนียบเจ้าเมืองพิษณุโลกระหว่างปี พ.ศ. 2310–2325 มีฐานะเป็นเมืองอิสระและหัวเมืองชั้นเอกอุ[53][54]:42

ลำดับ พระนาม/ชื่อ ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 พระเจ้าพิศณุโลก (เรือง โรจนกุล) 2311 (ชุมนุมพิษณุโลก)
2 พระยาไชยบูรณ์ (จัน) 2311–2312 (ชุมนุมพิษณุโลก)
3 หลวงโกษา (ยัง) 2312–2313 (ชุมนุมเจ้าพระฝาง)
4 เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) 2313–2324
สิ้นสุดราชวงศ์ธนบุรี พ.ศ. 2325
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ทำเนียบผู้สำเร็จราชการเมือง สมุหเทศาภิบาล และผู้ว่าราชการจังหวัดระหว่างปี พ.ศ. 2325–ปัจจุบัน

ทำเนียบผู้สำเร็จราชการเมือง
มีฐานะเป็นหัวเมือง ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. 2325–2437

ลำดับ ชื่อ ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 พระยาพิษณุโลก (หลวงนรา) 2325–2328 สมัยรัชกาลที่ 1
(สงครามเก้าทัพ)
2 พระยาพิษณุโลก (พุ่ม) สมัยรัชกาลที่ 3[55]
3 พระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) 2365–2367
4 พระยาพิษณุโลก 2380–ไม่ปรากฏ[56]
5 พระยาพิษณุโลกาธิบดี สมัยรัชกาลที่ 5[57]
6 พระยาพิษณุโลกาธิบดี 2428–ไม่ปรากฏ[58]
ทำเนียบสมุหเทศาภิบาลมลฑล
มีฐานะเป็นมณฑลพิษณุโลก ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2437–2476[59]

ลำดับ ชื่อ ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (เชย กัลยาณมิตร) 2437–2445
2 พระยาภักดีณรงค์ 2445–2446
3 พระศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (โพ เนติโพธิ์) 2446–2449
4 พระยาชลบุรานุรักษ์ (เจริญ จารุจินดา) 2449
5 พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม เทพานนท์)[60] 2449
6 พระยาอุไทยมนตรี (พร จารุจินดา) 2449–2465
7 พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (ทองสุก ดิษยบุตร) 2465–2468
8 พระยาเพชร์ปาณี (ดั่ง รักตประจิต) 2468–2471
9 พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) 2471–2476
ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัด
มีฐานะเป็นจังหวัด ตั้งแต่ พ.ศ. 2476–ปัจจุบัน[61][62]

ลำดับ ชื่อ ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 พระบริรักษ์โยธี (ทองอยู่ สุวรรณบาตร์) ไม่ทราบข้อมูล
2 พระไชยศิรินทรภักดี (สวัสดิ์ มหากายี) 2456–2457
3 พระพิษณุโลกบุรี (สวัสดิ์ มหากายี) 2457–2458
4 พระเกษตรสงคราม (เชียร กัลยานมิตร) 2458–2459
5 พระสวรรคโลกบุรี 2459–2461
6 พระยากัลยาวัฒนาวิศิษฐ์ (เชียร กัลยาณมิตร) 2461–2470
7 พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์) 2470–2476
8 พระยาศิรีชัยบุรินทร์ (เบี๋ยน หงสะเดช) 12 มีนาคม 2456 – 1 กรกฎาคม 2476
9 พระสาครบุรานุรักษ์ (เปลื้อง สุวรรณนานนท์) 20 มีนาคม 2478 – 18 พฤษภาคม 2481
10 พระยาสุราษฎร์ธานีศรีเกษตรนิคม 10 มิถุนายน 2481 – 18 มิถุนายน 2482
11 หลวงยุทธสารประสิทธิ์ (เมี้ยน โรหิตเสรนี) 24 มิถุนายน 2482 – 7กรกฎาคม 2483
12 พันเอก พระศรีราชสงคราม (ศรี ศุขะวาที) 7 กันยายน 2483 – 7 พฤษภาคม 2484
13 พันตรี หลวงยุทธสารประสิทธิ์ (เมี้ยน โรหิตเสรนี) 16 มิถุนายน 2484 – 27 กรกฎาคม 2485
14 หลวงวิเศษภักดี (ชื่น วิเศษภักดี) 28 เมษายน 2485 – 3 มกราคม 2487
15 หลวงศรีนราศัย (ผิว จันทิมาคม) 11 พฤษภาคม 2487 – 7 กรกฎาคม 2488
16 นายพรหม สูตรสุคนธ์ 7 กรกฎาคม 2488 – 7 ตุลาคม 2489
17 ขุนคำนวณวิจิตร (เชย บุนนาค) 18 พฤศจิกายน 2489 – 6 ธันวาคม 2490
18 ขุนจรรยาวิเศษ (เที่ยง บุณยนิต) 6 ธันวาคม 2490 – 31 ธันวาคม 2493
19 นายพ่วง สุวรรณรัฐ 1 มกราคม 2494 – 10 พฤศจิกายน 2494
20 พันตรี ขุนทะยานราญรอน (วัชระ วัชรบูล) 12 กุมภาพันธ์ 2494 – 1 พฤศจิกายน
21 พระบรรณศาสตร์สาทร 1 กุมภาพันธ์ 2497 – 1 สิงหาคม 2497
22 นายปรง พระหูชนม์ 1 สิงหาคม 2497 – 22 กุมภาพันธ์ 2501
23 นายพ่วง สุวรรณรัฐ (รักษาการในตำแหน่ง ผ.ว.ก.จว.) 14 กุมภาพันธ์ 2501 – 3 มีนาคม 2501
24 นายเยียน โพธิสุวรรณ 27 มีนาคม 2501 – 3 เมษายน 2507
25 นายเจริญ ภมรบุตร 9 เมษายน 2507 – 4 กุมภาพันธ์ 2509
26 นายนิรุต ไชยกูล 11 กุมภาพันธ์ 2509 – 21 ตุลาคม 2510
27 นายพล จุฑางกูล 21 พฤศจิกายน 2510 – 2 ตุลาคม 2513
28 นายพัฒน์ บุณยรัตพันธุ์ 2 ตุลาคม 2513 – 21 กันยายน 2514
29 นายจำรูญ ปิยัมปุตระ 1 ตุลาคม 2514 – 1 ตุลาคม 2515
30 พลตำรวจตรี สามารถ วายวานนท์ 1 ตุลาคม 2515 – 30 กันยายน 2517
31 นายสิทธิเดช นรัตถรักษา 1 ตุลาคม 2517 – 30 กันยายน 2519
32 นายชาญ กาญจนาคพันธุ์ 1 ตุลาคม 2519 – 30 กันยายน 2523
33 นายยง ภักดี 1 ตุลาคม 2523 – 30 กันยายน 2525
34 นายสืบ รอดประเสริฐ 1 ตุลาคม 2525 – 31 ตุลาคม 2528
35 นายนพรัตน์ เวชชศาสตร์ 1 พฤศจิกายน 2528 – 30 กันยายน 2532
36 นายไพฑูรย์ สุนทรวิภาต 1 ตุลาคม 2532 – 30 กันยายน 2534
37 นายอภัย จันทนจุลกะ 1 ตุลาคม 2534 – 30 กันยายน 2536
38 นายสวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ 1 ตุลาคม 2536 – 30 กันยายน 2539
39 นายนิธิศักดิ ราชพิตร 1 ตุลาคม 2539 – 30 กันยายน 2542
40 นายวิจารณ์ ไชยนันท์ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545
41 นายพิพัฒน์ วงศาโรจน์ 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2550
42 นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ 1 ตุลาคม 2550 – 15 มีนาคม 2552
43 นายปรีชา เรืองจันทร์ 16 มีนาคม 2552 – 27 เมษายน 2555
44 นายชัยโรจน์ มีแดง 27 เมษายน 2555 – 7 ตุลาคม 2555
43 นายปรีชา เรืองจันทร์ (ครั้งที่ 2) 8 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2556
44 นายระพี ผ่องบุพกิจ 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557
45 นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ 1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558
46 นายชูชาติ กีฬาแปง 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559
47 นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560
48 นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561
49 นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2563
50 นายรณชัย จิตรวิเศษ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2565
51 นายภูสิต สมจิตต์ 1 ตุลาคม 2565 – ปัจจุบัน
ประชากรศาสตร์
หมายถึงจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
หมายถึงจำนวนประชากรได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
อันดับ
(ปีล่าสุด) อำเภอ พ.ศ. 2557[63] พ.ศ. 2556[64] พ.ศ. 2555[65] พ.ศ. 2554[66] พ.ศ. 2553[67] พ.ศ. 2552[68] พ.ศ. 2551[69]
1 เมืองพิษณุโลก 283,419 281,762 280,922 280,457 279,292 276,293 274,415
2 วังทอง 120,824 120,535 120,513 119,878 119,485 119,103 119,213
3 บางระกำ 94,980 94,832 94,578 94,020 93,841 93,725 93,673
4 พรหมพิราม 87,864 87,853 87,739 87,629 87,869 87,868 87,962
5 นครไทย 87,042 86,684 86,163 85,534 85,213 84,911 85,202
6 เนินมะปราง 58,208 58,043 58,062 57,916 57,873 57,906 58,015
7 บางกระทุ่ม 48,152 48,307 48,390 48,313 48,605 48,667 48,849
8 ชาติตระการ 40,801 40,633 40,432 40,144 40,121 39,759 39,483
9 วัดโบสถ์ 37,698 37,727 37,573 37,466 37,393 37,329 37,183
— รวม 858,988 856,376 854,372 851,357 849,692 845,561 843,995|
การศึกษา
จังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง มีสถานศึกษามากมายทุกระดับตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัยทั้งรัฐบาล และเอกชนดังนี้

อุดมศึกษา

ป้ายมหาวิทยาลัยนเรศวร

ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพิษณุโลก
วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพิษณุโลก
วิทยาลัยทองสุข ศูนย์การศึกษาพิษณุโลก
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพุทธชินราช
วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร
วิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศไทย
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์จังหวัดพิษณุโลก
อาชีวศึกษา
วิทยาลัยอาชีวศึกษา จังหวัดพิษณุโลก
วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก
วิทยาลัยเทคนิคสองแคว
วิทยาลัยพณิชยการบึงพระพิษณุโลก
วิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก
วิทยาลัยการอาชีพนครไทย
วิทยาลัยบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีพิษณุโลก
วิทยาลัยอาชีวศึกษาพณิชยการพิษณุโลก
มัธยมศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ (เฉพาะในจังหวัดพิษณุโลก)
อำเภอเมืองพิษณุโลก
โรงเรียนจ่านกร้อง
โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก
โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี
โรงเรียนดอนทองวิทยา
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ (ม.ปลาย)
โรงเรียนท่าทองพิทยาคม
โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม
โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม
โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา
โรงเรียนวังน้ำคู้ศึกษา
อำเภอบางกระทุ่ม
โรงเรียนเนินกุ่มวิทยา
โรงเรียนบางกระทุ่มพิทยาคม
อำเภอนครไทย
โรงเรียนนครชุมพิทยา รัชมังคลาภิเษก
โรงเรียนนครไทย
โรงเรียนนครบางยางพิทยาคม
โรงเรียนนาบัววิทยา
โรงเรียนบ่อโพธิ์วิทยา
โรงเรียนยางโกลนวิทยา
อำเภอวังทอง
โรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม
โรงเรียนน้ำรินพิทยาคม
โรงเรียนเนินสะอาดวิทยาคม
โรงเรียนบ้านกลางพิทยาคม
โรงเรียนวังทองพิทยาคม
โรงเรียนวังพิกุลวิทยศึกษา
โรงเรียนสฤษดิ์เสนาพิทยาคม
โรงเรียนหนองพระพิทยา
อำเภอบางระกำ
โรงเรียนชุมแสงสงคราม (อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์)
โรงเรียนบางระกำวิทยศึกษา
โรงเรียนประชาสงเคราะห์วิทยา
อำเภอพรหมพิราม
โรงเรียนดงประคำพิทยาคม
โรงเรียนพรหมพิรามวิทยา
โรงเรียนวังมะด่านพิทยาคม
อำเภอวัดโบสถ์
โรงเรียนคันโช้งพิทยาคม
โรงเรียนวัดโบสถ์ศึกษา
อำเภอชาติตระการ
โรงเรียนชาติตระการวิทยา
โรงเรียนสวนเมี่ยงวิทยา
อำเภอเนินมะปราง
โรงเรียนไทรย้อยพิทยาคม
โรงเรียนเนินมะปรางศึกษาวิทยา
ประถมศึกษา
บทความหลัก: รายชื่อโรงเรียนในจังหวัดพิษณุโลก
สาธารณสุข

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
จังหวัดพิษณุโลกมีสถานบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิก โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัย โดยมีโรงพยาบาลศูนย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขประจำจังหวัดและประจำภูมิภาคภาคเหนือตอนล่างคือ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก และมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขั้นสูงของภูมิภาคภาคเหนือตอนล่างก็คือ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม คือโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โรงพยาบาลกองบิน 46 และมีโรงพยาบาลประจำอำเภอดังต่อไปนี้

โรงพยาบาลสมเด็จพยุพราชนครไทย อำเภอนครไทย
โรงพยาบาลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ
โรงพยาบาลบางระกำ อำเภอบางระกำ
โรงพยาบาลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม
โรงพยาบาลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม
โรงพยาบาลวัดโบสถ์ อำเภอวัดโบสถ์
โรงพยาบาลวังทอง อำเภอวังทอง
โรงพยาบาลเนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง
การขนส่ง

สถานีรถไฟพิษณุโลก
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ทำให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นจุดศูนย์กลางในด้านคมนาคมของภูมิภาคอินโดจีน โดยเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือ รวมทั้งภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย จังหวัดพิษณุโลกจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น "เมืองบริการสี่แยกอินโดจีน" โดยสามารถเดินทางได้โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (แม่สอด-มุกดาหาร) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (อินทร์บุรี-เชียงใหม่) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 (พิษณุโลก-นครสวรรค์) โดยทางหลวงทั้ง 3 สายเชื่อมโยงกันด้วยโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 126 (ถนนวงแหวนรอบเมืองพิษณุโลก)

โดยทั้งนี้จังหวัดพิษณุโลกมีสถานีขนส่งผู้โดยสาร 2 แห่งด้วยกัน

สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 ตั้งอยู่ภายในตัวเมือง สำหรับรถโดยสารที่วิ่งบริเวณจังหวัดที่ใกล้เคียง
สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกอินโดจีน เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ก่อสร้างบนเนื้อที่ 10 ไร 12 ตารางวา รองรับรถโดยสารที่มีเส้นทางผ่านจังหวัดพิษณุโลก รวม 20 เส้นทาง มีชานชาลาสำหรับจอดรถโดยสารทั้งหมด 40 ช่อง แบ่งเป็นอาคารสถานีฯหลังใหญ่ จำนวน 20 ช่อง อาคารสถานีฯหลังเล็ก จำนวน 20 ช่อง มีช่องจำหน่ายตั๋ว 27 ช่อง มีสถานที่จอดรถสำหรับประชาชนจำนวน 100 ช่อง มีการจัดสถานที่นั่งรอรถ สำหรับพระภิกษุและประชาชนอย่างเพียงพอ
นอกจากการคมนาคมทางรถยนต์แล้วยังสามารถเดินทางด้วยรถไฟที่สถานีรถไฟพิษณุโลก หรือทางอากาศที่ท่าอากาศยานพิษณุโลก มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการจากท่าอากาศยานดอนเมือง ได้แก่ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชียและสายการบินไทยไลออนแอร์ โดยให้บริการทุกวัน
การเดินทางภายในตัวจังหวัด มีรถโดยสารสองแถวสีม่วงและรถโดยสารประจำทางมินิบัสสีม่วงให้บริการหลายสาย และยังมีรถแท็กซี่มิตเตอร์ให้บริการอีกด้วย

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอวังทอง 17 กิโลเมตร
อำเภอบางระกำ 20 กิโลเมตร
อำเภอวัดโบสถ์ 28 กิโลเมตร
อำเภอพรหมพิราม 32 กิโลเมตร
อำเภอบางกระทุ่ม 36 กิโลเมตร
อำเภอเนินมะปราง 68 กิโลเมตร
อำเภอนครไทย 99 กิโลเมตร
อำเภอชาติตระการ 109 กิโลเมตร
สถานที่ท่องเที่ยว
อำเภอเมืองพิษณุโลก

วิหารเก้าห้องประดิษฐานพระอัฏฐารส ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

สมเด็จนางพญาเรือนแก้ว ในวัดนางพญา
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
พระราชวังจันทน์ (ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
มหาวิหารสมเด็จองค์ปฐม (วัดจันทร์ตะวันตก)
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี (จ่าสิบเอกทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์)
โรงหล่อพระบูรณะไทย
สวนนกไทยศึกษา
วัดนางพญา
สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บริเวณแยกเรือนแพ (สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ)
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพิษณุโลก
อำเภอบางระกำ
สวนน้ำสแปลชฟันปาร์ค (สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ)
อำเภอวังทอง

น้ำตกแก่งซอง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
สวนสาธารณะบึงราชนก (ส่องนกชมดาว)
สวนรุกขชาติสกุโณทยาน (น้ำตกวังนกแอ่น)
น้ำตกปอย
น้ำตกแก่งซอง
น้ำตกแก่งโสภา
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
วนอุทยานเขาพนมทอง ตำบลพันชาลี
วัดราชคีรีหิรัญยาราม
อุทยานแห่งชาติภูแดงร้อน
วัดพระพุทธบาทเขาสมอแคลง
โรงเจไซทีฮุกตึ้ง
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์
วัดวังทองวราราม
สถูปพระยาสาลีรัฐวิภาค
อำเภอนครไทย

อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
เขตรักษา​พันธุ์​สัตว์ป่า​ภูขัด
เขาโปกโล้น​ ต.นครชุม
บ่อเกลือ​พันปี​ ต.บ่อโพธิ์​
อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าว (หาว)
อำเภอวัดโบสถ์
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
อุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแคว
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่
อำเภอชาติตระการ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ
น้ำตกนาจาน
สวนพฤกษศาสตร์​ บ้าน​ร่มเกล้า​
เขตรักษา​พันธุ์​สัตว์ป่า​ภู​เมี่ยง​ภูทอง
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว
น้ำตกตาดปลากั้ง[70]

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว บริเวณลานสนที่ความสูง 1,633 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ด้านหลังคือยอดภูสอยดาว ความสูง 2,102 เมตร)
อำเภอเนินมะปราง
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล
บ้านมุง
บ้านรักไทย
ทุ่งโนนสน อช.ทุ่งแสลงหลวง
ถ้ำเดือน ถ้ำดาว
ถ้ำพระวังแดง (ยาวที่สุดในประเทศไทย 13,761 เมตร)​
อำเภอพรหมพิราม
สวนนํ้าพรหมพิรามรีสอร์ท
วัดวังมะสระ
วัดกระบังมังคลาราม
เขื่อนนเรศวร
บุคคลที่มีชื่อเสียง
เกจิคณาจารย์ชื่อดังของจังหวัดพิษณุโลก
•พระพรหมวชิรเจดีย์(บำรุง ฐานุตโร)ปธ.7 อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค5 อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองพิษณุโลก

พระวรญาณมุนี (หลวงตาละมัย (แจ่ม สุธัมโม) วัดอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก
พระมงคลสุธี (หลวงพ่อแขก) วัดสุนทรประดิษฐ์ อำเภอบางระกำ
พระครูศีลสารสัมบัน (สำรวย สมฺปนฺโน) วัดสระแก้วปทุมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก
หลวงพ่อทรัพย์ วัดปลักแรด อำเภอบางระกำ
พระครูประพันธ์ศีลคุณ (หลวงพ่อพันธ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางสะพานและเจ้าคณะอำเภอวังทองชั้นเอก
พระครูสุวรรณธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อวาว) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางสะพานและเจ้าคณะตำบลวังทองชั้นเอกกิตติมศักดิ์
พระครูศีลสารสัมบัน (หลวงปู่อ่อน พุทธสโก) วัดเนินมะเกลือวนาราม อำเภอวังทอง
พระครูไพโรจน์คุณาธาร (หลวงปู่หล้า คุณาธโร) วัดหนองบัว อำเภอวังทอง
พระครูขันติธรรมาภินันท์ (หลวงพ่อเชื่อม) วัดหนองทอง อำเภอวังทอง
หลวงพ่อยี ปญญภาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอภัยสุพรรณภูมิ (วัดดงตาก้อนทอง) อำเภอบางกระทุ่ม
หลวงพ่อแห วัดหนองบัว อ.เมือง
นักการเมือง
ดิเรก ชัยนาม
ทินกร พันธุ์กระวี
โกศล ไกรฤกษ์
ยิ่งพันธ์ มนะสิการ
นิยม ช่างพินิจ
สุชน ชามพูนท
จุติ ไกรฤกษ์
นพพล เหลืองทองนารา
ประจิน จั่นตอง
พิษณุ พลไวย์
มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์
ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์
นักเขียน/ศิลปิน
สุวรรณี สุคนธา
สื่อมวลชน/ดารา/นักแสดง
ภรภัทร นีลพัธน์
รุ่ง สุริยา
สีหนุ่ม เชิญยิ้ม
เจี๊ยบ เชิญยิ้ม
กรภพ จันทร์เจริญ
ภูผา รัตนรุ่งเรืองชัย
โย่ง เชิญยิ้ม
มีสุข คุณดิลกชัยพัฒน์
อรสา พรหมประทาน
ตุ้ม จ่านกร้อง
มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล
เกวลิน พูลภีไกร (เกรซ เดอะสตาร์11)
พรชนก เลี่ยนกัตวา (ปิ่น เดอะสตาร์12)
มานิตา จันทร์ฉาย (ไข่หวาน CGM48)
อธิวัฒน์ ธีรนิธิศนันท์
สุคนธ์เพชร ผลประดิษฐานนท์
นักกีฬา
ไทรโยค พุ่มพันธ์ม่วง
เดชา ก่อเกียรติยิม
ปัณณ์พันธุ์พงษ์ ปิ่นกอง
พุธิตา สุภจิรกุล
ธีรศักดิ์ นาคประสงค์
นิโคลัส มิคเกลสัน เก่งเกตกิจ
นางงาม/นางแบบ
จันจิรา จันทร์โฉม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ประจำปี 2002
กีรติกา จารุรัตน์จามร มิสอินเตอร์เนชันแนลไทยแลนด์ 2018
ของดีจังหวัดพิษณุโลก

โรงงานทำพระพุทธรูป ในจังหวัดพิษณุโลก
พระพุทธชินราชใบเสมา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) หนึ่งในเบญจภาคีพระเครื่อง
พระพิมพ์นางพญา กรุวัดนางพญา หนึ่งในเบญจภาคีพระเครื่อง
หมี่ซั่ว
สุนัขพันธุ์บางแก้ว
ไก่ชนพันธุ์ไทยพันธุ์เหลืองหางขาว
แหนมและหมูยอ
น้ำปลาปลาสร้อยอำเภอบางระกำ
ผลิตภัณฑ์กล้วยตาก อำเภอบางกระทุ่ม
ไม้กวาดบ้านนาจาน อำเภอชาติตระการ
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรทอดกรอบ (หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 5 ดาว)
ผ้าไหมทอมือ อำเภอเนินมะปราง
มะม่วงกวนหรือส้มแผ่น อำเภอวังทอง

Visitors: 4,661