สมุทรสงคราม

สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย (หน่วยงานบางแห่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคตะวันตก) มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศ คือประมาณ 416.7 ตารางกิโลเมตร นับเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและมีชายฝั่งทะเลติดอ่าวไทยยาวประมาณ 23 กิโลเมตรซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากเพราะเป็นดินดอนปากแม่น้ำ มีภูเขา 1 ลูก (เขายี่สาร) ไม่มีเกาะ มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มโดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกจะสูงกว่าฝั่งตะวันออกเล็กน้อย และเป็นจังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562

ปลายปี พ.ศ. 2550 ผลการสำรวจดัชนีความมั่นคงของมนุษย์พบว่า สมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีความมั่นคงของมนุษย์สูงที่สุดในประเทศไทย

ประวัติ
จังหวัดสมุทรสงครามหรือเมืองแม่กลอง ในอดีตคือแขวงบางช้างของเมืองราชบุรี ชื่อบางช้างอาจตั้งตามพระนามในเจ้าพลาย (ในปี พ.ศ. 2173 เจ้าพลายและเจ้าแสนซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่หนึ่งและพระราชโอรสองค์ที่สองตามลำดับในสมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) ซึ่งเป็นพระอนุชาพระองค์เดียวที่เราทราบในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (องค์ดำ) ซึ่งไม่มีพระราชโอรส ได้หนีราชภัยมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่แขวงบางช้าง) แขวงบางช้างมีศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม (ตามการแบ่งเขตการปกครองในปัจจุบัน) แขวงบางช้างมีอีกชื่อว่าสวนนอก (มีคำกล่าวที่ว่า "สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง") ต่อมาปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกับสมัยกรุงธนบุรี แขวงบางช้างแยกออกจากจังหวัดราชบุรีเรียกว่า "เมืองแม่กลอง" สมุทรสงครามมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พม่าส่งกองทัพผ่านเข้ามาถึงบริเวณตำบลบางกุ้ง พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมผู้คนสร้างค่ายป้องกันทัพพม่าจนข้าศึกพ่ายแพ้ไป ณ บริเวณค่ายบางกุ้ง นับเป็นการป้องกันการรุกรานของพม่าเข้ามายังไทยครั้งสำคัญในช่วงเวลานั้น

ชื่อเมืองแม่กลองเปลี่ยนเป็นสมุทรสงครามในปีใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานไว้ว่าเปลี่ยนราวปี พ.ศ. 2295 ถึงปี พ.ศ. 2299 เพราะจากหลักฐานในหนังสือกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยพระราชกำหนดเรื่องการเรียกสินไหมพินัยความ ได้ปรากฏชื่อเมืองแม่กลอง เมืองสาครบุรี และเมืองสมุทรปราการ อยู่ และต่อมาพบข้อความในพระราชกำหนด ซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2299 ความระบุว่าโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัตนาธิเบศร์ สมุหมณเฑียรบาล เอาตัวขุนวิเศษวานิช (จีนอะปั่นเต็ก) ขุนทิพ และหมื่นรุกอักษร ที่บังอาจกราบบังคมทูลขอตั้งบ่อนเบี้ยในแขวงเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม เมืองราชบุรี และเมืองสมุทรปราการ ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายสั่งห้ามไว้ก่อนแล้ว มาลงโทษ[ต้องการอ้างอิง]

จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแผ่นดินที่เกิดขึ้นใหม่จากการทับถมของโคลนตะกอนบริเวณปากแม่น้ำ เกิดเป็นที่ดอนจนกลายมาเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ ปรากฏชื่อครั้งแรกในนาม “แม่กลอง” นอกจากนั้นตามประวัติของราชินิกุลบางช้าง (ดูเพิ่มเติม ณ บางช้าง) สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีซึ่งเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระญาติวงศ์ มีพระนิวาสสถานดั้งเดิมอยู่ที่แขวงบางช้าง สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสืบเชื้อสายจากกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยแห่งอาณาจักรอยุธยาและราชวงศ์พระร่วง (ราชวงศ์สุโขทัย) แห่งอาณาจักรสุโขทัยโดยที่เจ้าพลายและเจ้าแสน แห่งราชวงศ์สุโขทัยแห่งอาณาจักรอยุธยา ทรงหนีราชภัยมาตั้งถิ่นฐานที่แขวงบางช้าง จังหวัดสมุทรสงครามจึงเป็นเมืองราชินิกุลบางช้างและราชสกุลแห่งราชวงศ์สุโขทัย มีการสืบทอดนาฏศิลป์ วรรณศิลป์ และการทำอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารชาววัง) ของสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีซึ่งเคยประทับกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีที่แขวงบางช้างทรงรับถ่ายทอดการทำอาหารจากที่นี่และทรงเป็นผู้ทำอาหารในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานและว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์

สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดบ้านแหลม ในสมัยโบราณมีชื่อเรียกว่า วัดศรีจำปา ตั้งอยู่ในตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเหตุที่ว่าชื่อวัดเป็นชื่อสถานที่ในพื้นที่แห่งหนึ่งในเมืองใกล้เคียงนั้น ก็เพราะว่าในสมัย พ.ศ. 2307 พม่าได้เข้าตีเมืองตะนาวศรี เมืองทวาย เมืองมะริด และเมืองเพชรบุรี โดยเข้ามาทางด่านสิงขร ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระยาพิพัฒน์โกสากับพระยาตากสินเข้ามาตั้งรับข้าศึกที่เมืองเพชรบุรี การสู้รบครั้งนั้นชาวบ้านแหลมในเมืองเพชรบุรี ต้องประสบชะตากรรมสงคราม อพยพไปอยู่ในลุ่มแม่น้ำแม่กลองบริเวณเหนือวัดจำปาซึ่งไม่ไกลจากทะเล อันเป็นพื้นที่สามารถประกอบอาชีพ (ประมง) จึงได้ตั้งรกรากกันในบริเวณนี้ แล้วไปมาหาสู่กันระหว่างแม่กลองกับอำเภอบ้านแหลม

มาวันหนึ่งขณะออกเรือหาปลา ชาวประมงบ้านแหลม ได้พระพุทธรูป 2 องค์ ขณะกำลังจะกลับฝั่ง ปรากฏว่ามีพายุลมแรง ชาวประมงจึงตัดสินใจนำเรือเข้าฝั่งมาทางแม่กลอง แล้วเข้ามาในแม่น้ำแม่กลองเพื่อหลบพายุ แต่เรือก็ยังโคลงเคลงอยู่จนกระทั่งมาถึงวัดศรีจำปา พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรได้ตกลงน้ำ ทำให้ชาวประมงบ้านแหลมกลุ่มนั้นต้องลงไปในแม่น้ำเพื่องมหา แต่ก็ไม่พบ จนชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากที่แม่กลองได้งมหาเจอ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีจำปา ความทราบถึงพี่น้องชาวบ้านแหลมที่อยู่ที่เพชรบุรีเข้า ก็ยกขบวนมาทวงพระคืน พี่น้องบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากที่แม่กลองขอพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา โดยยินยอมที่จะเปลี่ยนชื่อวัดจากชื่อวัดศรีจำปาเป็น วัดบ้านแหลม เพื่อเป็นเกียรติไว้แก่ชาวบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่เป็นผู้ได้พระพุทธรูปองค์นี้ ชาวบ้านแหลมเพชรบุรี จึงได้กลับไป พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรขนาดเท่าคนจริง สูงประมาณ 167 เซนติเมตร ส่วนอีกองค์ (หลวงพ่อทอง) ได้ไปประดิษฐาน ณ วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ภูมิศาสตร์
อาณาเขตติดต่อ
พื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ติดกับจังหวัดอื่น ๆ ดังนี้

ทิศเหนือ จรดจังหวัดราชบุรี (อำเภอดำเนินสะดวก) และจังหวัดสมุทรสาคร (อำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอเมืองสมุทรสาคร)
ทิศตะวันออก จรด อ่าวไทยชั้นใน (พื้นที่เขตจังหวัดสมุทรสงครามทางทะเลติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดเพชรบุรี
ทิศใต้ จรดจังหวัดเพชรบุรี (อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม)
ทิศตะวันตก จรดจังหวัดราชบุรี (อำเภอปากท่อ อำเภอวัดเพลง และอำเภอเมืองราชบุรี)
ทรัพยากรน้ำ

แม่น้ำแม่กลองในจังหวัด สมุทรสงคราม
แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับน้ำส่วนใหญ่จากแม่น้ำแม่กลอง

คลองสุนัขหอน เป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ไหลผ่านเริ่มจากอำเภอเมืองสมุทรสาคร ออกสู่แม่น้ำแม่กลองที่จังหวัดสมุทรสงคราม
คลองดำเนินสะดวก ไหลผ่านอำเภอบ้านแพ้ว ผ่านอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และผ่านอำเภอบางคนที
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
คำขวัญประจำจังหวัด: เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม
ตราประจำจังหวัด: รูปกลองลอยน้ำ
ต้นไม้ประจำจังหวัด: ต้นจิกเล (Barringtonia asiatica)
ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกจิกเล
สัตว์น้ำประจำจังหวัด: หอยหลอดชนิด Solen regularis
ลักษณะรูปร่างของจังหวัด: ลักษณะรูปร่างของจังหวัดสมุทรสงครามมีรูปร่างคล้ายกับหัวของสมเสร็จ

การเมืองการปกครอง

การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
การปกครองแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ 36 ตำบล 284 หมู่บ้าน 1 เทศบาลเมือง 6 เทศบาลตำบล 28 องค์การบริหารส่วนตำบล

ข้อมูลอำเภอในจังหวัดสมุทรสงคราม (31 ธันวาคม พ.ศ. 2564)
เมืองสมุทรสงคราม
บางคนที
อัมพวา
เรียงตามรหัสเขตการปกครองของกรมการปกครอง
รวมตำบลในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครด้วย
เฉพาะหมู่บ้านนอกเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร (ทั้งเต็มหมู่และบางส่วน) เท่านั้น สำหรับจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด ให้ดูในบทความของแต่ละอำเภอ
การปกครองส่วนท้องถิ่น
จังหวัดสมุทรสงครามมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 36 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง (องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม) เทศบาลเมือง 1 แห่ง (เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม) เทศบาลตำบล 8 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 26 แห่ง โดยมีรายชื่อเทศบาลทั้งหมดในจังหวัดสมุทรสงคราม มีดังนี้

เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
เทศบาลตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
เทศบาลตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที
เทศบาลตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที
เทศบาลตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที
เทศบาลตำบลบางกระบือ อำเภอบางคนที
เทศบาลตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา
เทศบาลตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา
เทศบาลตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา
ผู้ว่าราชการจังหวัด

พระแม่กลอง (เสม วงศาโรจน์) สมัยกรุงธนบุรี
พระแม่กลอง (สอน ณ บางช้าง) สมัยรัชกาลที่ 1
พระแม่กลอง (ตู้ ณ บางช้าง) สมัยรัชกาลที่ 2
พระแม่กลอง (ทองคำ ณ บางช้าง) สมัยรัชกาลที่ 2
พระแม่กลอง (นุช วงศาโรจน์) สมัยรัชกาลที่ 3
พระแม่กลอง (โนรี วงศาโรจน์) สมัยรัชกาลที่ 3
พระราชพงษานุรักษ์ศิริศักดิ์สมบูรณ์ มนูญอัธยาศัยอภัยพิริยพาหะ (กุน ณ บางช้าง) พ.ศ. 2413 - 2419
พระราชพงษานุรักษ์ศิริศักดิ์สมบูรณ์ มนูญอัธยาศัยอภัยพิริยพาหะ (ชม บุนนาค) พ.ศ. 2419 - 2437
พระราชพงษานุรักษ์ศิริศักดิ์สมบูรณ์ มนูญอัธยาศัยอภัยพิริยพาหะ (แฉ่ บุนนาค) พ.ศ. 2438 - 2439
หลวงอร่าม เรืองฤทธิ์ (ชวน บุนนาค) พ.ศ. 2439 - 2441
พระยาวรวิไชย (ปลอด บุนนาค) พ.ศ. 2442 - 2443
ผู้ว่าราชการจังหวัด
นายสมนึก พรหมเขียว 2 ธ.ค. 2565 – ปัจจุบัน
เศรษฐกิจ
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง ส่วนอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตน้ำปลา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีโรงงานทั้งสิ้น 270 โรงงาน ทุนจดทะเบียนรวม 5,068,084,947 บาท จำนวนการจ้างงาน 7,099 คน สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดสมุทรสงครามขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และการประมงเป็นสาขาการผลิตในภาคเกษตรที่ทำรายได้สูงสุดของจังหวัด รองลงมาก็คือ กสิกรรม และการแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างง่าย

โครงสร้างพื้นฐาน
การขนส่ง

รถไฟขณะออกสถานีรถไฟแม่กลอง กำลังวิ่งผ่านตลาดร่มหุบ หรือตลาดแม่กลอง
ในจังหวัดสมุทรสงครามมีทางหลวงแผ่นดินทั้งหมด 2 สาย ได้แก่ ถนนพระรามที่ 2 หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายธนบุรี–ปากท่อ โดยสามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงสมุทรสงครามโดยใช้ทางหลวงสายนี้ด้วยระยะทางประมาณ 65 กิโลเมตร และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 325 สายบางแพ–สมุทรสงคราม ส่วนการขนส่งทางราง ปัจจุบันมีทางรถไฟสายแม่กลอง ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการสัญจรและขนส่งเสบียงอาหารของประชาชน

และการขนส่งทางน้ำ จังหวัดสมุทรสงครามมีแม่น้ำไหลผ่านทั้ง 3 อำเภอ เป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ออกสู่ปากอ่าวแม่กลอง มีคลองเล็ก ๆ อีกประมาณ 300 คลอง การคมนาคมในจังหวัดจึงใช้เรือเป็นสำคัญ ซึ่งโดยมากได้แก่ เรือยนต์ เรือหางยาว และเรือแจว รวมถึงมีท่าเทียบเรืออีก 7 แห่ง การติดต่อกันระหว่างจังหวัดก็มีทางเรือ คือ

จังหวัดสมุทรสงคราม – จังหวัดราชบุรี ใช้แม่น้ำแม่กลองเป็นเส้นทางคมนาคม
จังหวัดสมุทรสงคราม – อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ใช้เส้นทางทะเล
จังหวัดสมุทรสงคราม – กรุงเทพมหานคร แต่เดิมใช้ลำคลอง เช่น คลองแม่กลอง คลองภาษีเจริญ ฯลฯ ปัจจุบันนิยมใช้เรือเดินทะเลขนส่งสินค้าขึ้นตามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเป็นประจำทุกวัน
สาธารณสุข
โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรสงคราม เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า อำเภอเมืองสมุทรสงคราม โรงพยาบาลอัมพวา อำเภออัมพวา โรงพยาบาลนภาลัย อำเภอบางคนที และโรงพยาบาลมหาชัยแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม 

การศึกษา
ดูเพิ่ม: รายชื่อโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงคราม
จังหวัดสมุทรสงครามมีสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2553 จัดการเรียนการสอนด้านการพัฒนาท้องถิ่น และการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท นอกจากนี้ยังมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตสมุทรสงคราม

ในส่วนของ สถาบันอาชีวศึกษา ที่มีคือ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรสงคราม และ วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา

บุคคลที่มีชื่อเสียง
พระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) – พระราชาคณะเจ้าคณะรอง เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย – พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2
ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี – อดีตพระวรชายาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
หลวงประดิษฐไพเราะ – นักดนตรีไทย
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ – บิดาของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ครูเอื้อ สุนทรสนาน – นักแต่งเพลง นักร้อง
ทูล ทองใจ – นักร้อง
ศรีไพร ลูกราชบุรี – นักร้องลุกทุ่ง
ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ – ศิษย์เอกของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
บุญยัง เกตุคง – ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ลิเก)
ช่วง มูลพินิจ – ศิลปินอิสระ
ศรคีรี ศรีประจวบ – นักร้องเพลงลูกทุ่ง
แฝดสยาม อิน-จัน – ฝาแฝดตัวติดกัน
ยอดกมล เรืองเดช (อาจารย์ยอด) (ชื่อเดิม:ปรีชา) – อดีตนักจัดรายการวิทยุ นักเล่านิทานธรรมะ ทางช่องยูทูบ:อาจารย์ยอด
อภิเดช ศิษย์หิรัญ – นักมวยไทย
เปลว สีเงิน – นักหนังสือพิมพ์
ศรัณยู วงษ์กระจ่าง – นักแสดง พิธีกร ผู้กำกับ
อุดม ชวนชื่น – ดารา นักแสดง ตลก
อารีย์ นักดนตรี จันเกษม – ดารา นักแสดง พิธีกร นักร้อง
วัลลี บุญเส็ง – ดาราภาพยนตร์เพื่อชีวิต
แคล้ว ธนิกุล – โปรโมเตอร์มวย
ช.อ้น ณ บางช้าง – นักดนตรีเฮฟวีเมทัล
อนุสรณ์ คล้ายวิเชียร – นักดนตรี
จิรากร สมพิทักษ์ – นักดนตรี
ทองคำ กิ่งมณี – นักกีฬาแบดมินตัน
ดร.ชำนาญ บัวทวน – ผู้ฝึกสอนแบดมินตันเยาวชนโลก 2 เหรียญทอง
อรวรรณ นวมศิริ – นักร้องเพลงลูกทุ่ง
ณัฏฐกันย์ อัมพรพงษ์ – ดารา นักแสดง
สถานที่ท่องเที่ยว

ตลาดน้ำอัมพวา
อุทยาน ร.2
ค่ายบางกุ้ง
ดอนหอยหลอด
ตลาดน้ำท่าคา
วัดบางกะพ้อม
วัดจุฬามณี
ตลาดน้ำอัมพวา
ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (วัดอัมพวันเจติยาราม)
โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ (มูลนิธิชัยพัฒนา)

Visitors: 5,039