อุทัยธานี

อุทัยธานี (เดิมสะกดว่า อุไทยธานี)[3] เป็นจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย หรือบางหน่วยงานจัดให้อยู่ในตอนล่างของภาคเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 6,730.246 ตารางกิโลเมตร มีประชากรในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 325,116 คน

ประวัติ
เมืองอุทัยธานีมีหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรยืนยันไว้ว่า เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว โดยพบหลักฐานยืนยันในหลายพื้นที่ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินกะเทาะจากหินกรวด ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผา (เขาปลาร้า) เป็นต้น

ตำนานเก่าเล่าว่า ในสมัยกรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองนั้น ท้าวมหาพรหมได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า คือ อำเภอหนองฉางในปัจจุบันนี้ แล้วพาคนไทยเข้ามาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านคนมอญและคนกะเหรี่ยง จึงเรียกว่า "เมืองอู่ไทย" ตามกลุ่มหรือที่อยู่ของคนไทยซึ่งพากันตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น มีพืชพันธุ์และอาหารอุดมสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินและเกิดกันดารน้ำ เมืองอู่ไทยจึงถูกทิ้งร้าง จนในที่สุด พะตะเบิดได้เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทย โดยขุดที่เก็บกักน้ำไว้ใกล้เมือง และพะตะเบิดได้เป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเป็นคนแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมืองอู่ไทยต่อมาได้เรียกกันเป็น "เมืองอุไทย" คาดว่าเพี้ยนไปตามสำเนียงชาวพื้นเมืองเดิม ได้มีฐานะเป็นหัวเมืองด่านชั้นนอก มีพระพลสงครามเป็นนายด่านแม่กลอง และพระอินทรเดชเป็นนายด่านหนองหลวง (ปัจจุบันแม่กลองคืออำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และหนองหลวงคือตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง) คอยดูแลพม่าที่จะยกทัพมาตามเส้นทางชายแดนด่านแม่ละเมา

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2163) ได้โปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติอำนาจการใช้ตราประจำตำแหน่ง มีบัญชาการตามหัวเมืองนั้น ได้ระบุในกฎหมายเก่าลักษณะพระธรรมนูญว่า "เมืองอุไทยธานี เป็นหัวเมืองขึ้นแก่มหาดไทย"

เมืองอุไทยธานีเป็นเมืองที่อยู่บนที่ดอนและลึกเข้าไป ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่และไม่สามารถติดต่อทางเรือได้ ดังนั้นชาวเมืองจึงต้องขนข้าวบรรทุกเกวียนมาลงที่แม่น้ำ จึงทำให้พ่อค้าพากันไปตั้งยุ้งฉางรับซื้อข้าวที่ริมแม่น้ำจนเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่าหมู่บ้าน "สะแกกรัง" เนื่องจากเป็นพื้นที่มีป่าสะแกขึ้นเต็มริมน้ำและมีต้นสะแกใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน บ้านสะแกกรัง ชาวจีนเรียกเพี้ยนเป็น "ซิเกี๋ยกั้ง" เป็นตลาดซื้อข้าวที่มีพ่อค้าคนจีนนิยมไปตั้งบ้านเรือนและยุ้งฉาง ต่อมาในระยะหลังได้มีเจ้านายและขุนนางมาตั้งบ้านเรือนอยู่ เพราะความสะดวกในการกะเกณฑ์สิ่งของส่งเมืองหลวงซึ่งเป็นจำพวกมูลค้างคาว ไม้ซุง กระวาน และช้างป่า อีกทั้งยังมีช่องทางในการค้าข้าวอีกด้วย

ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) นั้น จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) ซึ่งย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรังนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชนิกูล และต่อมาได้กำเนิดบุตรชายคนโตชื่อ "ทองดี " เกิดที่สะแกกรัง สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกฯ พระนามเดิม ทองดี เดิมทรงรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ดำรงตำแหน่งพระอักษรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย ถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เกิดการระส่ำระสายแตกสามัคคีในพระนคร จึงทรงอพยพครอบครัวไปรับราชการกับเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ ต่อมาทรงพระประชวร สิ้นพระชนม์ในเมืองพิษณุโลก บุตรชายชื่อ "ทองด้วง" ภายหลังได้รับราชการเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และสถาปนาเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จักรีปกครองแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่งประดิษฐาน ณ หอพระในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายบังคมในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาในฐานะสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี พระอัฐิอีกส่วนหนึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระเจดีย์ทองในพระมณฑปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ราชวรมหาวิหาร มีประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งเครื่องทองน้อย เพื่อสักการบูชาทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนิน

พ.ศ. 2376 ข้าราชการชาวกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาอุไทยธานี เจ้าเมืองอุไทยธานีในสมัยนั้น ได้เห็นว่าบ้านสะแกกรังเป็นตลาดใหญ่ มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่กันอย่างหนาแน่น อีกทั้งเป็นสถานที่ที่ชาวอุไทยธานีติดต่อค้าขายข้าวและไม้ซุงกับพ่อค้าที่นั่นมานานแล้ว จึงคิดตั้งบ้านเรือนเพื่อค้าขาย ประจวบกับเวลานั้น เจ้าเมืองไชยนาทเป็นเพื่อนกัน จึงขอตั้งบ้านเรือนที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เนื่องจากผู้คนมาติดต่อราชการและมาค้าขายกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากเจ้าเมืองไม่กล้าขึ้นไปเมืองอุไทยธานีเก่า อ้างว่ากลัวไข้ป่า จึงเป็นเหตุให้พากันอพยพมาอยู่กันมากขึ้น

พ.ศ. 2391 ได้มีการแบ่งเขตดินแดนเมืองอุไทยธานีและเมืองไชยนาท โดยตัดเขตบ้านสะแกกรังทางฝั่งคลองฟากใต้ ตั้งแต่ท้ายบ้านสะแกกรังไปจดเมืองอุไทยธานีเก่า โอนที่นั่นจากเมืองไชยนาทเป็นของเมืองอุไทยธานี ดังนั้นเมืองอุไทยธานี จึงตั้งอยู่ที่ปลายสุดเขตแดนเมืองมโนรมย์ ข้างใต้บ้านลงมาสักคุ้งน้ำหนึ่งก็เป็นแดนเมืองไชยนาท

พ.ศ. 2441 เมืองอุไทยธานีขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนไปขึ้นกับมณฑลอยุธยา สุดท้ายมีการประกาศเลิกมณฑลปี พ.ศ. 2476 และจัดให้จังหวัดเป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญที่สุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งและอาณาเขต

จังหวัดอุทัยธานีถูกจัดให้อยู่ในภาคกลางตอนบนตาม ราชบัณฑิตยสถานและกรมอุตุนิยมวิทยา แต่บางหน่วยงานถูกจัดให้อยู่ตอนล่างของภาคเหนือ มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดข้างเคียง ดังนี้

ทิศเหนือ ติดกับ จังหวัดนครสวรรค์

ทิศตะวันออก ติดกับ จังหวัดชัยนาท

ทิศใต้ ติดกับ จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี

ทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี

แม่น้ำและแหล่งน้ำที่สำคัญ
แม่น้ำสะแกกรัง มีต้นกำเนิดจากเขาโมโกจูในจังหวัดกำแพงเพชร ไหลผ่านอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านอำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอทัพทัน และอำเภอเมืองอุทัยธานี ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ที่บ้านท่าซุง ตำบลท่าซุง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 225 กิโลเมตร โดยในแม่น้ำบริเวณตลาดหน้าวัดอุโปสถาราม มีชุมชนชาวแพซึ่งอยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน มีการทำสวนต้นเตยและเพาะเลี้ยงปลาแรดในกระชังซึ่งเป็นปลาที่มีชื่อของจังหวัดด้วย
แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ผ่าน ต.หาดทนง (เกาะเทโพ) อ.เมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี
ลำห้วยคลองโพ เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอชุมตาบง อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ไหลมาบรรจบแม่น้ำสะแกกรัง(แควตากแดด) ที่ตำบลสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร
ลำห้วยขุนแก้ว เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอบ้านไร่ และอำเภอห้วยคต ไหลผ่านอำเภอห้วยคต อำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี และอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มาบรรจบแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลวัดสิงห์ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร
ลำห้วยทับเสลา ห้วยทับเสลาเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำสะแกกรัง ห้วยทับเสลา มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านอำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง มาบรรจบแม่น้ำสะแกกรังที่ตำบลน้ำซึม อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวจากท้ายเขื่อนทับเสลาถึงจุดที่บรรจบกับแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 90 กิโลเมตร
ลำห้วยกระเสียว เป็นลำห้วยสาขาใหญ่ของแม่น้ำท่าจีน ต้นน้ำอยู่ระหว่างเขาแหละกับเขาใหญ่ในเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอด่านช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มาบรรจบแม่น้ำท่าจีนที่บ้านทึง อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี รวมความยาวประมาณ 140 กิโลเมตร
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
คำขวัญประจำจังหวัด : อุทัยธานี เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ
ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นสะเดา (Azadirachta indica var. siamensis)
ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกสุพรรณิการ์ (Cochlospermum regium)
สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลาแรด (Osphronemus goramy)
หน่วยการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
จังหวัดอุทัยธานีแบ่งเขตการปกครองเป็น 8 อำเภอ 70 ตำบล 632 หมู่บ้าน

ข้อมูลอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดอุทัยธานี
แผนที่ หมาย
เลข ชื่ออำเภอ ชั้น ประชากร
(พ.ศ. 2561) พื้นที่
(ตร.กม.) ความหนาแน่น
(คน/ตร.กม.) รหัสไปรษณีย์ ระยะทางจาก
อำเภอเมืองอุทัยธานี
(กม.)
แผนที่อำเภอในจังหวัดอุทัยธานี 1 อำเภอเมืองอุทัยธานี 1 50,290 250.1 201.07 61000 -
2 อำเภอทัพทัน 3 38,622 323.633 119.33 61120 20
3 อำเภอสว่างอารมณ์ 3 31,852 341.4 93.29 61150 34
4 อำเภอหนองฉาง 2 43,813 341.2 128.40 61110, 61170 22
5 อำเภอหนองขาหย่าง 4 16,094 347.776 46.27 61130 12
6 อำเภอบ้านไร่ 2 69,186 3,621.5 19.10 61140, 61180 79
7 อำเภอลานสัก 3 59,218 1,080.4 54.81 61160 54
8 อำเภอห้วยคต 4 20,358 424.17 47.99 61170 50
รวม 329,433 6,730.246 48.94
จังหวัดอุทัยธานีมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 64 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง, เทศบาลเมือง 1 แห่ง คือ เทศบาลเมืองอุทัยธานี, เทศบาลตำบล 13 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 49 แห่ง[4]

การศึกษา
ดูเพิ่ม: รายชื่อโรงเรียนในจังหวัดอุทัยธานี
เทศกาลประเพณี
งานตักบาตรเทโว วัดสังกัสรัตนคีรี ถือเป็นประเพณีสำคัญในวันออกพรรษาของจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (ตุลาคม) ของทุกปี พระสงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานีประมาณ 200-300 รูป จะออกรับบิณฑบาตโดยเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรังนำด้วยพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ลงมารับบิณฑบาตข้าวสารจากพุทธศาสนิกชนที่ลานวัด โดยสมมติมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังเป็น "สิริมหามายากูฎคาร" ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดมารดา แล้วเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ลงบันได 339 ขั้น ซึ่งถือเป็นบันไดแก้วสู่กัสนคร คือ บริเวณวัดสังกัสรัตนคีรี ในวันนั้นประชาชนจะแต่งกายสวยงามและมาร่วมทำบุญกันอย่างพร้อมเพรียง นับเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทุกปี
งานไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ วัดสังกัสรัตนคีรี เป็นงานท้องถิ่น จัดขึ้นในวันขึ้น 3-8 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เป็นงานประเพณีไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี ซึ่งเดิมนั้นเป็นงานนมัสการปิดทองพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขาสะแกกรัง ในระยะหลังจึงจัดงานในคราวเดียวกันที่วัดนี้ในวันขึ้น 5 ค่ำ เนื่องจากเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มาไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์และขึ้นยอดเขาเพื่อปิดทองพระพุทธบาทจำลองมากที่สุด และได้จัดให้มีการละเล่นสนุกสนานควบคู่กันไปทุกปี
งานประจำปีวัดหนองขุนชาติ อำเภอหนองฉาง โดยจัดให้มีงานในวันขึ้น 12 ค่ำ - วันแรม 5 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เดิมเป็นงานนมัสการพระพุทธบาทจำลอง ต่อมาการจัดงานได้รับความนิยมมาก จึงได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี
การละเล่นพื้นเมืองที่บ้านท่าโพ อำเภอหนองขาหย่าง จัดขึ้นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ คือระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน โดยชาวบ้านในหมู่บ้านท่าโพและหมู่บ้านพันสี จะมาร่วมกันจัดการละเล่นพื้นเมืองขึ้นที่วัดท่าโพ โดยจะเก็บดอกไม้แห่เข้าโบสถ์แล้วร้องเพลงพิษ ฐานในโบสถ์ เสร็จแล้วจะออกมาเล่นเพลงชักกะเย่อ เพลงโลม เพลงรำวงโบราณอย่างสนุกสนานแต่ละเพลงมีท่ารำประกอบเฉพาะ ผลัดกันเล่นมอญซ่อนผ้า เจี๊ยบๆ จ้อย ช่วงชัย เสือกินวัว และแม่ศรี ตามแต่จะแข่งขันกัน ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยที่รักษาไว้และปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน การละเล่นต่างๆ ในหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนใหญ่ยังคงเนื้อเพลงที่ร้องแบบของเดิมไว้
การละเล่นของชาวกะเหรี่ยง อำเภอบ้านไร่ ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้ มีเต้นรำเชอโฮเตตามจังหวะ การร้องเพลงกล่อมลูก เป็นต้น ประเพณีการแต่งงานและการหย่าร้าง การนับถือผี งานบุญเจ้าวัด และการทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น ปัจจุบันยังสามารถศึกษาได้จากหมู่บ้านกะเหรี่ยง ตำบลคอกควาย และตำบลแก่นมะกรูด
งานแห่เจ้าของชาวจีนในอุทัยธานี เป็นประเพณีของชาวจีนในอุทัยธานีที่จะจัดพิธีแห่เจ้าพ่อและเจ้าแม่ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามศาลต่างๆ โดยกำหนดมีงานตามการครบปีของเจ้าแต่ละองค์ ซึ่งบางองค์ 5 ปีแห่ครั้งหนึ่ง บางองค์ 12 ปีแห่ครั้งหนึ่ง บางองค์ 14 ปีแห่ครั้งหนึ่ง ไม่เหมือนกัน การแห่เจ้าพ่อปุงเถ่ากง เจ้าพ่อหลักเมืองอุทัยธานี จะมีขบวนสาวงามถือธงร่วมขบวนเป็นแถวยาวผ่านตลอดไปตามถนนรอบเมือง และจะมีสิงโตคณะต่างๆ ของชาวจีนในอุทัยธานีร่วมให้พรตามร้านค้าคนจีนในตลาด ซึ่งทุกร้านจะตั้งโต๊ะบูชาประดับด้วยงาช้างขนาดใหญ่สวยงาม ถ้าเป็นงานของเจ้าแม่ทับทิม "จุ้ยบ้วยเนี้ยว" จะมีพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงเจ้าแม่เมื่อครบ 12 ปี และเข้าทรงทำการลุยไฟด้วย
เหตุการณ์สำคัญ
ที่มาของธงไตรรงค์
ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2459 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัย และทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎรซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จไว้ถูกติดกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า "ธงแดงขาว 5 ริ้ว" (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย)ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่ใช้รูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453

ปัญหาอุทกภัย ปี พ.ศ. 2554
น้ำท่วมจังหวัดอุทัยธานี โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนเข้าแม่น้ำสะแกกรัง ทำน้ำทะลักเข้าท่วมชุมชนริมแม่น้ำ-โบราณสถานสำคัญของจังหวัดอุทัยธานีแล้ว

สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุทัยธานี ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลเกาะเทโพ ตำบลท่าซุง ได้ขยายวงกว้างท่วมบ้านเรือนชาวบ้านไปแล้วนับพันหลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายไปนับหมื่นไร่ จนทำให้ทางจังหวัด ต้องประกาศให้เป็นพื้นประสบภัยพิบัติฉุกเฉินไปแล้ว

ล่าสุดปริมาณในแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณเกาะคุ้งสำเภา ตำบลท่าซุง อำเภอเมืองอุทัยธานี ได้หนุนย้อนเข้าไปในแม่น้ำสะแกรัง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีระดับสูงขึ้นวันละ 10 -15 ซม. บางจุดน้ำได้เอ่อล้นตลิ่งโดยเฉพาะชุมชนหน้าวัดพิชัยฯ น้ำได้ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังไปกว่า 20 หลังเรือน โดมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต้องขึ้นไปอาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน หลายบ้านต้องอพยพไปอยู่บนพื้นที่สูงด้านหน้าวัดพิชัยฯ ซึ่งทางเทศบาลเมืองจัดเต็นท์ไว้ให้ ส่วนชาวแพทั้ง 2 ฝั่ง ที่อาศัยอยู่ก็ต้องเร่งชักแพเข้าฝั่งป้องกันแพหลุดตามไปกลับกระแสน้ำ และปัจจุบันพบว่าในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี บริเวณถนนศรีอุทัยฯ บางระดับน้ำยังท่วมสูงกว่า 1 เมตร ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน

สำหรับน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง ยังได้เอ่อล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมโบราณสถานสำคัญ คือ มณฑปแปดแหลี่ยม ติดกับพระอุโบสถวัดโบสถ์ หรือวัดอุโปสถาราม ที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย -รัตนโกสินทร์ตอนต้น สูงประมาณ 50 ซม.

สถานที่สำคัญ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ
บุคคลที่มีชื่อเสียง
เชื้อพระวงศ์
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เป็นพระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมชื่อ "ทองดี" เป็นบุตรชายของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ประสูติที่บ้านสะแกกรัง ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) ได้รับราชการเป็นพระพินิจอักษร และต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระอักษรสุนทรสาสน์ มีหน้าที่แต่งราชสาสน์และท้องตราที่ไปมากับหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทั้งเป็นผู้เก็บรักษาตราพระราชลัญจกรอันเป็นตราของแผ่นดิน พระอักษรสุนทรสาสน์ได้แต่งงานกับสตรีงามชื่อ "หยก" (บางแห่งเรียกดาวเรือง) มีบุตร-ธิดา 5 คนคือ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี
สมเด็จพระเจ้าขุนรามณรงค์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สถาปนา "พระบรมราชวงศ์จักรี" ได้สถาปนาพระราชบิดาเป็น "สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก" เมื่อ พ.ศ. 2338

พระเถระชั้นผู้ใหญ่
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) สมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนใต้ อดีตแม่กองบาลีสนามหลวง อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) เป็นพระภิกษุนิกายเถรวาทฝ่ายมหานิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี มีชื่อเสียงในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนได้วิชามโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ) หลังการมรณภาพ สังขารร่างกายของท่านมิได้เน่าเปื่อยอย่างศพของคนทั่วไป และได้มีการเก็บรักษาไว้ที่วัดท่าซุง

บุคคลทั่วไป

พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทย เดิมชื่อ กิมเหลียง วัฒนปฤดา บิดามารดามีอาชีพค้าขาย อายุ 8 ขวบเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง เมื่อจบประถมศึกษา บิดาได้นำไปฝากให้บวชสามเณรอยู่กับพระมหาชุ้ย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เมื่อท่านอายุ 13 ปีในปี พ.ศ. 2453 ท่านได้ศึกษานักธรรมและบาลีจนจบนักธรรมเอกและเปรียญ 5 ประโยค โดยสอบได้เปรียญ 5 ประโยคเมื่ออายุ 19 ปีใน พ.ศ. 2459 สอบได้เป็นที่ 1 ในประเทศ ได้รับประกาศนียบัตรหมายเลข 1 จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และได้รับความไว้วางใจจากพระศรีวิสุทธิวงศ์ (เฮง เขมจารี) ให้เป็นครูสอนภาษาบาลีอีกด้วย
ประพจน์ อัศววิรุฬหการ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เคยดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักการเมือง
ดำรงค์ พิเดช
ประแสง มงคลศิริ
อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์
ชาดา ไทยเศรษฐ์
นักแสดง / นักร้อง
ธนิดา ธรรมวิมล นักร้องหญิงชาวไทย
ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ นักแสดงชายชาวไทย
อิงฟ้า วราหะ นักร้องหญิงชาวไทย
อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ นักร้องชายชาวไทย
เอกพงศ์ จงเกษกรณ์ นักแสดงชายชาวไทย
อ้างอิง
ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2565.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ. เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 ตอนที่ ๐ก วันที่ 29 เมษายน 2460
ข้อมูลจำนวน อปท. แยกรายจังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ดูเพิ่ม

Visitors: 4,662